ยกระดับระบบอาคารอัจฉริยะ Smart Building ด้วยหลักการบริหารจัดการที่ดี

ปัจจุบัน “ระบบอาคารอัจฉริยะ” (Smart Building) ได้กลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ในการสร้างอาคาร  *จากการศึกษาพบว่าจำนวนอาคารที่มีการใช้ระบบอาคารอัจฉริยะ จะมีตัวเลขเพิ่มขึ้นมากกว่า 150% ภายในปี 2026* ซึ่งการนำระบบอัจฉริยะมาใช้ภายในภาคธุรกิจ จะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดจำนวนแรงงานและการทำงานที่ซ้ำซ้อนได้อีกเช่นกัน วันนี้ OPEN-TEC ศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี (Tech Knowledge Sharing Platform) ภายใต้การดูแลของ TCC TECHNOLOGY GROUP ได้รวบรวมความรู้จากผู้มีประสบการณ์ด้านการดูแลและให้คำปรึกษาเทคโนโลยีมาร่วมแบ่งปัน เพื่อผลักดันภาคธุรกิจให้สามารถบริหารจัดการอาคารอัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนี้

อาคารอัจฉริยะ” คืออะไร

จากคำนิยามของ WiredScore** “อาคารอัจริยะ หมายถึง อาคารที่ได้รับการออกแบบให้ ผู้ใช้อาคารเป็นศูนย์กลาง (user-centric)  โดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพัฒนาด้านต้นทุน ความสะดวกสบาย ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการออกแบบแนวทางไว้ล่วงหน้า”

ปัจจัยสู่ความเป็นอาคารอัจฉริยะ

จากที่กล่าวไปข้างต้น เทคโนโลยีนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับสู่การเป็นอาคารอัจฉริยะ ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้จะประกอบไปด้วย 6 ปัจจัยหลัก** ได้แก่ การพัฒนาการประสิทธิภาพแบบเดี่ยวและกลุ่ม (Individual and Collaborative Productivity) การพัฒนาสุขภาวะของผู้ใช้งานอาคาร (Health and Well Being) การยกระดับชุมชน (Community) การมีความยั่่งยืน (Sustainability) การยกระดับการจัดการและบำรุงรักษาอาคาร (Maintenance and Optimization และการยกระดับความปลอดภัย (Security)

โดยการออกแบบหรือก่อสร้างอาคารอัจฉริยะมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผนระยะยาวให้ครอบคลุมทุกขั้นตอน และเลือกสรรเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ แต่ละประเภทมีความต้องการและรายละเอียดที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์( Commercial Real Estate) ต้องการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการการเข้าออกของบุคคลแบบชั่วคราว, อสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย ( Residential Real Estate) ต้องการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการการเข้าออกของบุคคลแบบประจำ หรือ อสังหาริมทรัพย์เพื่อภาคอุตสาหกรรม (Industrial Real Estate) ต้องการใช้เทคโนโลยีในการควบคุมการทำงานของเครื่องจักร เป็นต้น  

“People Process Technology” 3ความท้าทายหลักของการเปลี่ยนแปลง

นอกจากสิ่งที่กล่าวไปข้างต้นแล้วนั้น ยังมีอีก 3 ความท้าทายที่ภาคอสังหาริมทรัพย์จะต้องเผชิญระหว่างการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบอาคารอัจฉริยะด้วยเช่นกัน  เริ่มตั้งแต่ความท้าทายด้านบุคลากร (People) ที่จำเป็นจะต้องมีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เพื่อช่วยลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติงาน อีกทั้งความท้าทายด้านขั้นตอนการทำงาน (Process) ของการบริหารจัดการภาพรวมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้อย่างมีประสิทธิภาพ และความท้าทายสุดท้ายอย่างเทคโนโลยี (Technology) ที่ต้องเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับรูปแบบการทำงานของอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น Building Information Modeling (BIM) เทคโนโลยีที่เปลี่ยนอาคารให้เป็นข้อมูล ผ่านกระบวนการสร้าง ประกอบ บริหารการออกแบบด้วยข้อมูลสามมิติ และ Computerized Maintenance Management System (CMMS) ระบบบริหารและจัดการงานซ่อมบำรุงด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งหากภาคอสังหาริมทรัพย์สามารถก้าวผ่านความท้าทายทั้ง 3 ด้านของ People, Process, Technology ได้ก็จะช่วยยกระดับองค์กรสู่ความเป็นอัจฉริยะได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

โลกสีเขียววิสัยทัศน์ใหม่ของผู้เช่า ผู้ซื้อและนักลงทุน

นอกจากนี้แล้ว ภาคธุรกิจและผู้ใช้งานอาคารต่างให้ความสำคัญของการนำหลักแนวคิด ESG: Environment, Social, Governance มาใช้เพื่อเป็นมาตรฐานภายในองค์กร ส่งผลให้ภาคธุรกิจร่วมผลักดันการสร้างอาคารสีเขียว (GREEN) เช่น ระบบเปิดปิดไฟอัตโนมัติ เมื่อมีการนำระบบเข้ามาใช้ภายในองค์กรก็จะช่วยลดการใช้พลังงานสูญเปล่าและช่วยให้การบริหารจัดการด้านพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับเป็นส่วนหนึ่งในการตอบโจทย์การบริหารจัดการระบบอาคารอัจฉริยะอย่างยั่งยืนและช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ตามข้อกำหนด   Nationally Determined Contribution (NDC) ในที่สุด

สุดท้ายนี้ ระบบอาคารอัจฉริยะจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ล้วนขึ้นอยู่กับการวางแผนและการบริหารจัดการที่ดีในด้านบุคลากร ขั้นตอนการทำงาน และการเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม ซึ่งระบบอาคารอัจฉริยะสามารถผลักดันให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ก้าวเข้าสู่ความยั่งยืนได้อีกเช่นกัน จากที่กล่าวไปข้างต้นนั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาบางส่วนที่ OPEN-TEC ได้รวบรวมจากงาน “Building Tech Forum 2023” ที่จัดขึ้นโดย คณะวิศวกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม ภายใต้หัวข้อ Building System Technologies in Digital Era โดยได้รับเกียรติจาก ดร. ธิติ วัชรสินธพชัย Smart Property Project Director บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด (ทีซีซีเทค) เป็นผู้ให้ความรู้ด้าน Smart Building เท่านั้น

บทความโดย OPEN-TEC