เปิดงาน “BIDC 2022” สุดอลัง พร้อมงานประกาศรางวัล BIDC Awards ในรูปแบบ Virtual Event
ผสานความร่วมมือพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน ผลักดัน “ซอฟต์พาวเวอร์-เมตาเวิร์ส” มั่นใจช่วยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ได้ตามเป้า 500 ล้านบาท
กรุงเทพฯ, 5 พฤษภาคม 2565: จัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับ “Bangkok International Digital Content Festival 2022” หรือ “BIDC 2022”เทศกาลดิจิทัลคอนเทนต์ที่ยิ่งใหญ่แห่งปี ที่จัดเป็นปีที่ 9 แล้ว โดย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ผนึกกำลังร่วมกับเหล่าพันธมิตรทั้งภาครัฐ ได้แก่ TCEB , depa และ CEA เสริมทัพด้วย 5 สมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย TGA , BASA , DCAT , e-LAT และ TACGA ปักธงผสานความร่วมมือในการผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ในประเทศในแข็งแกร่ง นำไปสู่การขยายไปยังต่างประเทศ ตามภารกิจ DITP ที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้ มั่นใจสามารถขับเคลื่อนตลาดคอนเทนต์ดิจิทัลในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท พร้อมจัดกิจกรรมประกาศรางวัล BIDC Awards รางวัลด้านดิจิทัลคอนเทนต์ 23 รางวัล โดยในปีนี้ถือเป็นการประเดิมการจัดงานในรูปแบบ Virtual Event เต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกที่แปลกใหม่และแตกต่างไปจากในทุกๆ ครั้ง
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มาเป็นประธานในการเปิดงานครั้งนี้ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ดิจิทัลคอนเทนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวคิด“ครีเอทีฟ อีโคโนมี” (Creative Economy) และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฮับ (Hub) ของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย 14 แผนงานของกระทรวงพาณิชย์ โดยได้ร่วมสนับสนุนการจัดงาน BIDC มาอย่างต่อเนื่องตลอด 9 ปี เพื่อสร้างเวทีเจรจาธุรกิจในยุคดิจิทัล นำร่องสู่การพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้กระทรวงได้ดำเนินโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศทั้งในและต่างประเทศตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 เป็นต้นมา สามารถสร้างมูลค่าทางการค้ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท
นายจุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่าในปีนี้กระทรวงพาณิชย์มุ่งหวังที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นไปอีก โดยอาศัยผลงานความคิดสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ไทยมาต่อยอดให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งต่ออุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยผมได้มอบหมายให้กระทรวงจัดทำแผนงานรูปธรรมโดยการส่งเสริมการนำซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) เข้ามามีบทบาทด้านการส่งออกรวมทั้งด้านดิจิทัลคอนเทนต์ ซึ่งนอกจากจะเพิ่มพูนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการแข่งขันกับต่างประเทศแล้ว ยังเชื่อมโยงให้เกิดการพัฒนาธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งในด้านสถานที่ท่องเที่ยว อาหาร วัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของไทย เกิดเป็นอีโคซิสเต็ม (Ecosystem) ทั้งในด้านการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ การจ้างงาน และการใช้จ่ายภายในประเทศต่อไป
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB) กล่าวว่า TCEB ถือเป็นหน่วยงานมีพันธกิจในการพัฒนาและยกระดับงานเทศกาลนานาชาติของไทยให้เติบโตในระดับนานาชาติ มุ่งหวังให้งานเทศกาลนี้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการรวมตัวและต่อยอดธุรกิจของคนในวงการ หรือที่เราเรียกว่า Business Festival ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยตลอด 8 ปีที่ผ่านมา TCEB ได้จัดทำการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการจัดงานพบว่า งาน BIDC ได้สร้างผลกระทบในทางบวกให้กับเศรษฐกิจต่อรายได้ประชาชาติ (GDP) มีมูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาท รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้กว่า 240 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานกว่า 11,000 ตำแหน่ง ยิ่งไปกว่านั้นงาน BIDC ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถของคนไทยให้ก้าวล้ำไปอีกขั้น ตามเจตนารมณ์ของผู้จัดงาน
ด้าน นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Sentiment Index) ไตรมาส 4 ปี 2564 พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 53.8 เพิ่มขึ้นจาก 46.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนโยบายกระตุ้นการบริโภค การท่องเที่ยวของภาครัฐ และแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ตลอดจนประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลดีต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ไตรมาส 1 ปี 2565 ดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์จะเพิ่มขึ้นเป็น 60.9สอดรับกับปีนี้ที่การดำเนินงานภายใต้แนวคิด METAVERSE (เมต้าเวิร์ส) หรือโลกดิจิทัลเสมือนจริงกำลังเป็นเมกะเทรนด์ของโลกยุคใหม่ นับเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ไทยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงนับเป็นโอกาสที่ดีที่ BIDC จะเป็นอีกหนึ่งพลังในการสร้างแรงหนุนให้กับระบบนิเวศของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์เติบโตได้อย่างยั่งยืนตลอดไป
ส่วน นายอินทพันธุ์ บัวเขียว รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจ (องค์การมหาชน) หรือ CEA แสดงทัศนะถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า ความสามารถของนักสร้างสรรค์ไทยในกลุ่ม Content Industries มีผลงานเป็นที่ยอมรับกันในระดับนานาชาติแล้วว่ามีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ภาพยนตร์ ซีรีย์ เกม แอนิเมชั่น นิยาย อุตสาหกรรมเหล่านี้มีบุคลากรที่มีความสามารถ ซึ่ง CEA เอง มีพันธกิจสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้ขับเคลื่อนและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของประเทศ โดยในงาน BIDC 2022 CEA ได้ร่วมสนับสนุนให้มีการนำเสนอประเด็นสถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรม ข้อมูลทางการตลาดในปัจจุบันและทิศทางของอุตสาหกรรมในอนาคตในกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการและนักสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของภาคธุรกิจ นายเนนิน อนันต์บัญชาชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA) ผู้แทนภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย กล่าวถึงแนวคิดในการจัดงานในครั้งนี้ว่า งานนี้ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยเพราะเป็นงานที่เกิดจากการทำงานอย่างบูรณาการกันระหว่างภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องมา 9 ปี เพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยให้เป็น Hub ของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และของโลก โดย BIDC มีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านดิจิทัลคอนเทนต์ อีกทั้งยังได้เปิดโลกทัศน์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกิจกรรมของโครงการ เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่แข่งขันได้ในตลาดโลก ตลอดจนได้สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เจรจาธุรกิจกับบริษัทชั้นนำจากทั่วโลก ถือเป็นการต่อยอดให้อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ที่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดสูงกว่า 35,000 ล้านบาทให้เติบโตเพิ่มขึ้นและช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับธีมหลักในการจัดงานปีนี้ คือ Metaverse ซึ่งนับเป็นอีกก้าวที่จะพลิกอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนด์ เข้าสู่โลกเสมือนจริงอย่างเต็มตัว เราไม่ได้เห็นเป็นแค่เทรนด์โลกที่เป็นกระแส แต่คือโอกาสให้เกิดการสร้างสรรค์ดิจิทัลแพลตฟอร์มและคอนเทนต์ในรูปแบบที่แตกต่างเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประเทศ สำหรับงาน BIDC 2022 ในครั้งนี้ มีกิจกรรมหลัก ได้แก่
1. พิธีเปิดงาน BIDC 2022 และงานประกาศรางวัล BIDC Awards 2022 วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 โดยปีนี้จัดในรูปแบบ Virtual Event ที่มีรูปแบบแปลกและแตกต่างจากทุกครั้ง พร้อมทั้งมีการประกาศรางวัล 23 รางวัล จาก 5 สมาคม
2. กิจกรรมเสวนาออนไลน์ (BIDC WEBINAR) วันที่ 7-22 พฤษภาคม 2565 โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิระดับโลกทั้งชาวไทยและต่างชาติมาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ไทย โดยมีหัวข้อการสัมมนาที่น่าสนใจไม่น้อยกว่า 18 หัวข้อ คาดว่าจะมีผู้รับชมมากกว่า 12,000 ราย โดยสามารถเลือกหัวข้อที่สนใจและลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่ https://qrco.de/bcwjGS
3. กิจกรรมจัดเจรจาธุรกิจออนไลน์ วันที่ 25-27 พฤษภาคม 2565 ระหว่างผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ไทยและผู้ประกอบการชั้นนำจากทั่วโลกเกือบ 100 ราย โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีการจับคู่เจรจาธุรกิจมากกว่า 200 คู่ และสร้างมูลค่าไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท
ทั้งนี้ การจัดงานBIDC 2022 ถือเป็นความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ TCEB , depa และ CEA อีกทั้ง 5 สมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย TGA , BASA , DCAT , e-LAT และ TACGA ที่จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ให้ก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี และถือเป็นโอกาสทองของประเทศไทยในการช่วยกันพัฒนาให้ความสามารถของผู้ประกอบการไทยทัดเทียมและยืนได้ในเวทีโลกอย่างสวยงามต่อไป
ขัอมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัด BIDC2022
· พิธีเปิดงาน BIDC 2022 และงานประกาศรางวัลด้านดิจิทัลคอนเทนต์ BIDC Awards ประจำปี 2022 จัดขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 โดยถ่ายทอดสดในรูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่งผ่าน Facebook โครงการ (www.facebook.com/bidc.fest)
· กิจกรรมเสวนาออนไลน์ (Webinar) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7–22 พฤษภาคม 2565 ผ่านระบบ Zoom และไลฟ์สตรีมมิ่งผ่าน Facebook โครงการ (www.facebook.com/bidc.fest) โดยเชิญวิทยากรที่มีผลงานระดับโลกทั้งชาวไทยและต่างชาติเกือบ 30 ราย มาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์
· การจัดเจรจาธุรกิจออนไลน์ วันที่ 25-27 พฤษภาคม 2565 ระหว่างผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ไทยและผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ชั้นนำจากทั่วโลกรวมจำนวนเกือบ 100 ราย