เปิดเคสนอร์เวย์ ข้อมูลสัญญาณมือถือช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดเชื้อโควิด 19 ได้อย่างไร

13 พฤษภาคม 2563 – ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ร่วมกับสถาบันเพื่อการสาธารณสุขแห่งนอร์เวย์หรือ NIPH (Norwegian Institute of Public Health)  เปิดเผยโปรเจกต์ความร่วมมือ ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 สีฟ้าที่แสดงผลอยู่บนหน้าจอแสดงให้เห็นถึงการอพยพเดินทางระหว่างพื้นที่เขตเทศกาล โดยสีฟ้าที่มีความเข้มมากเท่าไหร่ นั่นหมายถึงการเดินทางของผู้คนในบริเวณนั้นยิ่งน้อยลง ขณะที่สีแดงนั้นหมายถึงการเพิ่มขึ้นของการเดินทางของผู้คนในท้องที่นั้นๆ


แผนที่แสดงผลการอพยพเคลื่อนไหวของประชากรนอร์เวย์ โดยภาพซ้ายแสดงผลของวันที่ 10 มีนาคม และภาพขวาแสดงผลของวันที่ 15 มีนาคม ซึ่งเคนท์บอกว่า เขาไม่เคยเห็นการอพยพเคลื่อนที่ที่ลดลงในระดับนี้มาก่อน

ข้อมูลสร้างความเข้าใจ

เคนท์เองเกอ มอนเซน นักวิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ กล่าวว่า “สีฟ้าเป็นสีที่ผมชอบที่สุดในช่วงวิกฤตนี้เลย นับจากรัฐบาลนอร์เวย์ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา เราเห็นข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของการอพยพเดินทางของผู้คนในนอร์เวย์อย่างมีนัยสำคัญ ในบางพื้นที่การเดินทางข้ามเขตเทศบาลนั้นลดลงถึง 65% ซึ่งเราทราบจากการมอนิเตอร์รูปแบบการเดินทางของประชากร โดยอาศัยการจับสัญญาณมือถือ ซึ่งหากมีการเปลี่ยนเสาจับสัญญาณนั่นหมายถึงเกิดการอพยพเดินทางขึ้น ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานด้านสาธารณสุขในการตัดสินใจออกมาตรการสาธารณสุขอย่างยิ่ง

จริงๆ แล้ว ทางศูนย์วิจัยนอร์เวย์ได้ร่วมมือกับทาง NIPH ตั้งแต่เดือนมกราคมในการให้ข้อมูลการรูปแบบการอพยพเดินทางของประชากรทั่วประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 356 เขตเทศบาล ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนที่จะค้นพบการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในนอร์เวย์เสียอีก”

“ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการอพยพเดินทางมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจกับรูปแบบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด” เคนท์ เน้นย้ำ


เคนท์ ผู้มีบทบาทในการวิเคราะห์และอัพเดทข้อมูลก่อนส่งต่อให้ NIPH

ทำนายรูปแบบการแพร่กระจายผ่านบิ๊กดาต้า

จากความร่วมมือดังกล่าว ทำให้ NIPH ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลของศูนย์วิจัยเทเลนอร์ในการ “ทำนาย” รูปแบบและสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคได้

“เราได้สร้างโมเดลการแพร่ระบาดของเชื้อในประชากรทั้งประเทศ ซึ่งโมเดลนี้แบ่งออกเป็น 3 ชุด ได้แก่ 1.โครงสร้างประชากรในแต่ละเขตเทศบาล 2.รูปแบบการแพร่กระจายของเชื้อในเขตเทศบาล และ 3. รูปแบบการอพยพเดินทางระหว่างเขตเทศบาล ซึ่งจากโมเดลดังกล่าว ทำให้เราสามารถเข้าใจถึงสถานการณ์ของการแพร่ระบาดในปัจจุบัน ตลอดจนการทำนายแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ในระดับเขตเทศบาล” บลาซิโอ ผู้อำนวยการสถาบัน NIPH เล่าถึงขั้นตอนการทำงาน พร้อมกล่าวเสริมว่า “ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ในทางสาธารณสุขอย่างมาก เพื่อการเตรียมพร้อมเรื่องของเตียงผู้ป่วยและจำนวนห้องไอซียูที่จำเป็นต้องใช้ในอนาคต ที่สำคัญมากไปกว่านั้นขึ้น สามารถระบุได้ทั้งในระดับท้องที่และระดับประเทศ”

ในช่วงวิกฤตเช่นนี้ สิ่งที่สำคัญอย่างมากคือ การตัดสินใจทางนโยบายสาธารณสุขที่แม่นยำ เพื่อหยุดยั้งและระบุปัญหาได้อย่างชัดเจนและแม่นยำ โมเดลทางคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าอย่างมากในแง่ของการวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมและการกำหนดนโยบาย นอกจากนี้ ยังช่วยตรวจสอบประสิทธิภาพการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการปิดโรงเรียน การทำงานจากที่บ้าน ฯลฯ


บลาซิโอ ผู้อำนวยการสถาบัน NIPH ได้จับมือกับมหาวิทยาลัยแห่งออสโลว์ ศูนย์คอมพิวเตอร์แห่งนอร์เวย์และศูนย์วิจัยเทเลนอร์

ทางสองแพร่งระหว่างความเป็นส่วนตัวกับวิธีแก้ปัญหา

ข้อมูลที่ได้จนสามารถแสดงผลออกมาเป็นแผนที่ได้นั้น ได้มาจากการจับสัญญาณโทรศัพท์ระหว่างเสาสัญญาณของเทเลนอร์นอร์เวย์ ผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดถึง 80% และมีเสาสัญญาณกว่า 8,100 สถานี โดยจะมีการส่งข้อมูลในกับ NIPH ในทุก 6 ชั่วโมงและทุกวัน เพื่อให้ NIPH ได้รับข้อมูลที่เรียลไทม์ที่สุด

อย่างไรก็ตาม การติดตามความเคลื่อนไหวของประชากรผ่านสัญญาณมือถือนั้นอาจมีความเสี่ยงในแง่ของการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่ทั้งนี้ เคนท์อธิบายว่า “ข้อมูลที่ใช้นั้นจะไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ เป้าหมายของโปรเจ็คนี้คือ ความสามารถในการมองเห็นภาพรวมการเปลี่ยนแปลงการอพยพเคลื่อนที่ของผู้คนในพื้นที่ต่างๆ โดยปกติแล้ว ข้อมูลการจับสัญญาณในแต่ละเสาสัญญาณนั้นจะเข้าผ่านระบบโครงข่ายของแต่ละผู้ให้บริการในระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น จากนั้นก็จะถูกลบโดยอัตโนมัติทันที”

บิ๊กดาต้าเพื่อสังคม

การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และบิ๊กดาต้าเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ของสังคมนั้น เป็นสิ่งที่ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ทำอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งที่ผ่านมา ได้ทำข้อมูลสัญญาณมือถือนี้มาใช้ในการทำนายรูปแบบและหยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไข้เลือกออกในปากีสถานและบังคลาเทศ แต่ในกรณีของเชื้อโควิด 19 นั้น ทางศูนย์วิจัยได้ตระหนักถึงความสามารถในการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลที่มีการในการช่วยเหลือสังคม

ซิกเว่ เบรกเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเทเลนอร์กรุ๊ป บอกว่า “ทุกคนในสังคมล้วนร่วมแรงรวมใจในการต่อสู้กับการเผชิญหน้าภัยทางสาธารณสุขที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เทเลนอร์กรุ๊ปก็เช่นกัน เรามุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม และโปรเจกต์นี้ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการช่วยเหลือสังคมให้ก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้”

สำหรับประเทศไทยเอง ดีแทคในพันธมิตรสำคัญของเทเลนอร์กรุ๊ป อยู่ในระหว่างหารือกับหน่วยงานภาครัฐของไทยในการทำเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้ประโยชน์ทางนโยบายสาธารณสุข เพื่อช่วยยับยั้งการระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับนอร์เวย์โมเดล ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่เชื้อในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์