แนะ 5 แนวทางพาองค์กรฝ่าวิกฤต Covid-19 โดย Bluebik
Bluebik เผยวิกฤต Covid-19 ส่งผลองค์กรเร่งงัดแผนรับมือสำหรับปัจจุบันและอนาคต พร้อมแนะ 5 แนวทาง ตั้งแต่การจัดเตรียมแผน BCPและการซักซ้อมแผน การสื่อสารเพื่อลดความตื่นตระหนก การจัดสรรแยกกลุ่มพนักงานเพื่อบริหารความเสี่ยง การปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อยืดหยุ่นในการทำงานรวมทั้งลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่น การแสดงตัวตนด้วยการสแกนใบหน้าแทนสะแกนนิ้วมือ ส่งเสริมการจ่ายแบบไร้เงินสดลดการสัมผัสเงินสด การประเมินคู่ค้า วางแผนสำรองและหาแหล่งทดแทน ช่วยธุรกิจเดินหน้าต่อไม่หยุดชะงักเพราะพิษไวรัส Covid-19
นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (Bluebik) บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ‘โควิด-19’ จนลุกลามไปทั่วโลก ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัวและหยุดชะงักมากขึ้น รายได้ของหลายอุตสาหกรรมต้องหดตัวไป โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว อาทิ อุตสาหกรรมการบินและสายการบิน โรงแรม ค้าปลีก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว การคมนาคมสาธารณะ ฯลฯ การระบาดของไวรัส Covid-19 สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนจำนวนมากจนไม่กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอยหรือเดินทางท่องเที่ยวเช่นเคย อีกทั้งนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังลดลงอย่างต่อเนื่องจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคทำให้หลาย ๆ องค์กรเริ่มส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ เช่น การปรับลดจำนวนพนักงาน หรือแม้กระทั่งการปิดกิจการ
ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ‘โควิด-19’ กลับก่อให้เกิดปรากฏการณ์และเป็นโอกาสให้กับธุรกิจบางประเภทเช่นเดียวกัน อาทิ ธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์ และบริการส่งอาหาร
“ในขณะที่หลายธุรกิจกำลังชะลอตัว แต่ภาพรวมของธุรกิจ E-Commerce (อี-คอมเมิร์ซ) และ Food Delivery (บริการส่งอาหาร) กลับเติบโตสวนทาง ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ประกอบกับสถานการณ์ที่ไม่เอื้อต่อการออกไปจับจ่ายใช้สอยได้อย่างสบายใจในที่สาธารณะเหมือนเช่นเคย รวมทั้งใช้เวลาที่บ้านมากขึ้นจึงทำให้การสั่งสินค้าออนไลน์และการส่งอาหารเติบโตขึ้น ฉะนั้นหากธุรกิจหันมาเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายให้เป็นช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ จะเป็นแต้มต่อและช่วยรักษาโอกาสทางการค้าในช่วงความท้าทายนี้ได้ รวมทั้งธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ E-Commerce ก็ไม่ควรมองข้ามการใช้เทคโนโลยีและ Social Media (โซเชียลมีเดีย) มาปรับใช้เพื่อรับมือกับวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต “ นายพชร กล่าว
นายพชร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า Bluebik แนวทางปฏิบัติเร่งด่วน (Quick Win) สำหรับองค์กรปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงักมีความต่อเนื่องทางธุรกิจ ดังต่อไปนี้
1. การวางแผนต่อเนื่องทางธุรกิจและการซักซ้อม องค์กรควรเริ่มจัดทำหรือทบทวนแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Plan: BCP) ของตัวเองเพื่อให้มั่นใจได้ว่าแผนที่มีอยู่นั้นมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต อาทิ การปฏิบัติงานร่วมกับคู่ค้า การจัดสรรทรัพยากรอย่างพอเพียง รวมทั้งควรทำการทดสอบแผนดังกล่าวเพื่อให้มั่นใจว่า หากสถานการณ์ระบาดของโรค COVID-19 ขยายวงกว้างหรือเข้าสู่ Phase ที่ 3 จนไม่สามารถดำเนินธุรกิจในรูปแบบปรกติได้ ธุรกิจจะดำเนินกิจการอย่างไรเพื่อกระทบกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้น้อยที่สุด
2. การสื่อสารเพื่อลดความตื่นตระหนก องค์กรควรจัดให้มีการสื่อสารเกี่ยวกับแผนสำรอง Business Continuity Planning (BCP) พร้อมแนวทางการปฏิบัติงานภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนเข้าใจในบทบาทหน้าที่รับผิดชอบ หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้การดำเนินงานไม่สามารถดำเนินได้ตามปรกติ รวมทั้งสื่อสารนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง ให้พนักงานทราบวิธีปฏิบัติตนเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์เสี่ยงที่จะทำให้ตนเองได้รับเชื้อโคโรนา และสื่อสารมาตรการในการดูแลและป้องกันสุขภาพของพนักงานและต้องให้พนักงานปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอย่างต่อเนื่องเป็นประจำผ่านช่องทางที่เข้าถึงง่าย เช่น Line กลุ่ม
3. จัดสรรแยกกลุ่มพนักงานเพื่อบริหารความเสี่ยง หัวใจที่สำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจ คือ พนักงาน ฉะนั้นจึงควรปิดความเสี่ยง โดยการแบ่งกลุ่มพนักงานในฝ่ายงานสำคัญต่าง ๆ อย่างน้อย 2 กลุ่ม โดยไม่ให้พบปะกันโดยตรง เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อทั้งกลุ่ม แยกกลุ่มพนักงานที่มีความเสี่ยงสูงเช่น พนักงานขาย ออกจากพนักงานที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า และปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อให้พนักงานสามารถทำงานคนละที่ได้ เช่น Video Conference และ Collaboration tools ต่าง ๆ
4. ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ “เครื่องสแกนลายนิ้วมือ” ถือเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค แม้มีการดูแลทำความสะอาดอยู่เสมอก็ตาม องค์กรควรพิจารณาหันมาใช้ระบบจดจำใบหน้าแบบชีวภาพ (Biometric Facial Recognition) ปรับเปลี่ยนการชำระเงินเป็นแบบไร้เงินสดเพื่อลดการใช้ ธนบัตรหรือเหรียญ ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงในการแพร่กระจายไวรัส ในองค์กรที่มีจำนวนร้านค้าภายในจำนวนมาก อาทิ ศูนย์อาหาร หรือโรงอาหาร อาจนอกจากนั้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการที่จอดรถที่ต้องแจกบัตรเพื่อเข้าออกลานจอดรถ สามารถนำเทคโนโลยี IoT (Internet of Thing) เข้ามาเชื่อมต่อกับระบบที่จอดรถ เช่น การใช้เทคโนโลยี ALPR (Auto license plate recognition) ที่สามารถอ่านป้ายทะเบียนรถที่เข้าออกที่จอดรถและเชื่อมต่อกับไม้กั้นที่เปิดปิดแบบอัตโนมัติ โดยไม่ต้องใช้บัตรในการผ่านเข้าออก เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคจากผู้ใช้งานเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อระหว่างบุคคลที่เข้าออกอาคาร
5. ประเมินคู่ค้า วางแผนสำรองและหาแหล่งทดแทน ในส่วนองค์กรในส่วนภาคการผลิตที่ต้องพึ่งพาวัสดุอุปกรณ์จากประเทศจีนเป็นหลัก โดยเฉพาะสินค้าในหมวดคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ อาจประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบหรือต้นทุนในการผลิตได้ ฉะนั้นองค์กรควรจัดทำแผนด้านซัพพลายเชนเพื่อเสาะหาแหล่งผลิตสำรองโดยการหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้ผลิตภายในประเทศหรือประเทศอื่นรวมทั้งวางแผนสำรองวัตถุดิบเพื่อการผลิต รวมทั้งต้องพิจารณาแผนในกรณีที่โรงงานในประเทศจีนเริ่มกลับมาทำงานเป็นปรกติไว้ด้วย